งานนิติการ

งานนิติการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

icon_widget_image เลขที่ 1 หมู่ 20 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 13180 icon_widget_image 02 909 1429 หมายเลขภายใน 387 legal@vru.ac.th

กรณีการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติ การอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒

  /  บทความ   /  กรณีการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติ การอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒

กรณีการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติ การอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒

การจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา

          เรื่องเสร็จที่ ๑๑๗๕/๒๕๖๓ กรณีการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ จะต้องจัดทำเป็นกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือรูปแบบทางกฎหมายอื่นใดหรือไม่ อย่างไร

 

ความเห็น พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับตราขึ้นเพื่อให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และมาตรา ๓ แห่ง พระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ บัญญัตินิยามคำว่า “มาตรฐานการอุดมศึกษา” หมายความว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ และเกณฑ์อื่นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อกำหนดขั้นต่ำของหลักสูตรการศึกษา และข้อกำหนดขั้นต่ำของเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และมาตรฐานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริมการกำกับดูแล การตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา และมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง (๖) และ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษาฯ ต้องดำเนินการโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษา ซึ่งการจัดทำมาตรฐานการศึกษาต้องยึดหลักการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗ โดยมีบทบัญญัติรองรับหลักการอื่นเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษาที่อาจกำหนดให้มีขึ้นในอนาคตตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา ๒๗ (๖) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ทั้งสองฉบับนี้มีหลักการและองค์กรที่ไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือได้จัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาขึ้นแยกออกจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะและให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาการรับรองมาตรฐาน การศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและการวินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาอย่างร้ายแรง นอกจากนั้นยังได้บัญญัติหลักการในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้การกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาขึ้นใหม่ตามกฎหมายทั้งสองฉบับจึงต้องพิจารณามาตรา ๔ และมาตรา ๒๗ (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ ซึ่งมุ่งหมายกำหนดหลักการสำคัญของมาตรฐานการอุดมศึกษาเป็นกฎกระทรวง เมื่อปรากฏว่าหลักการสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบันมีอยู่สี่เรื่อง คือ (๑) มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (๒) มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา (๓) มาตรฐานเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ และ (๔) มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา เรื่องดังกล่าวทั้งสี่เรื่องจึงควรกำหนดเป็นกฎกระทรวง ส่วนเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไปจะกำหนดเป็นระเบียบหรือประกาศก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญและเนื้อหาสาระ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนดเป็นการเฉพาะให้ต้องดำเนินการออกในรูปแบบใดก็ต้องดำเนินการออกในรูปแบบนั้น

 

 

Post a Comment