งานนิติการ

งานนิติการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

icon_widget_image เลขที่ 1 หมู่ 20 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 13180 icon_widget_image 02 909 1429 หมายเลขภายใน 387 legal@vru.ac.th

กรณีการประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ

  /  บทความ   /  กรณีการประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ

กรณีการประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ

การจัดซื้อจัดจ้าง

                    เรื่องเสร็จที่ ๑๐๙๔/๒๕๖๓ กรณีการประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓

 

ประเด็นที่หนึ่ง คำว่า “กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” ตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓ เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนใดและสิ้นสุดขั้นตอนใด

 

ความเห็น พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓ มิได้กำหนดความหมายของคำว่า “กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” ไว้เป็นการเฉพาะ การพิจารณาความหมายของการจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องพิจารณาตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติโดยได้กำหนดบทนิยามของคำว่า “การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉะนั้น “กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” ตามมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ จึงหมายถึง กระบวนการในการดำเนินการเพื่อให้มาซึ่งพัสดุตามบทนิยามในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯและโดยที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงานของรัฐตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง
ดังนั้น ขั้นตอนการเริ่มต้นและสิ้นสุดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ จึงเป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐฯ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ

 

ประเด็นที่สอง คำสั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ ค.๙๗/๒๕๖๒ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการ กฟผ. ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างขอบเขตของงานและเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญ (TOR) และการพิจารณากลั่นกรองสำหรับวงเงินที่เกิน
๗๐๐ ล้านบาทและการพิจารณากลั่นกรองสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งเชื้อเพลิงที่มีวงเงินครั้งละเกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท ถือว่าเป็นกระบวนการประชุมตามมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓ หรือไม่

 

ความเห็น ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ ได้กำหนดกระบวนการเกี่ยวกับการซื้อหรือจ้าง ไว้ในส่วนที่ ๒ กระบวนการซื้อหรือจ้าง ของหมวด ๒ การซื้อหรือจ้างโดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตของงาน การจัดทำรายงาน การขอซื้อหรือขอจ้าง การแต่งตั้งคณะกรรมการ ซื้อหรือจ้าง วิธีซื้อหรือจ้าง วิธีประกาศเชิญชวน วิธีคัดเลือก วิธีเฉพาะเจาะจง เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ อำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง ไปจนถึงการจ่ายเงินล่วงหน้า ดังนั้น การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างขอบเขตของงานและเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญและการพิจารณากลั่นกรองเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามข้อหารือ จึงเป็นการดำเนินการในกระบวนการซื้อหรือจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ ตามความหมายของคำว่า “กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” ที่ไม่นำพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ มาใช้บังคับแก่การประชุม เพื่อดำเนินการดังกล่าวตามนัยมาตรา ๕ แห่ง พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ

 

Post a Comment