งานนิติการ

งานนิติการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

icon_widget_image เลขที่ 1 หมู่ 20 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 13180 icon_widget_image 02 909 1429 หมายเลขภายใน 387 legal@vru.ac.th

กรณีการส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ

เรื่องเสร็จที่ ๗๐๔/๒๕๖๓ กรณีการส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
  /  บทความ   /  กรณีการส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ

กรณีการส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ

เรื่องเสร็จที่ ๗๐๔/๒๕๖๓ กรณีการส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ

 

ประเด็นที่หนึ่ง กรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (เทศบาลตำบลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง) ได้ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นเพื่อสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการทุจริตเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ของเทศบาลตำบลแม่เมาะ และต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจังหวัดลำปางได้ร่วมกันออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตและผู้เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ได้ส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบก่อน เป็นการออกคำสั่งที่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่

 

ความเห็น ข้อ ๑๗ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ กำหนดให้ เมื่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้รับ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้วให้วินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนและส่งสำนวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ เว้นแต่เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดว่าไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ ประกอบกับ ข้อ ๕.๒.๒ แห่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดหลักเกณฑ์ให้ไม่ต้องรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐครั้งละเกินกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับความเสียหายประเภทที่มีสาเหตุจากการทุจริต และหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้เต็มจำนวนความเสียหายและพิจารณาให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นโอกาสหรือช่องทางให้เกิดการทุจริตชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบข้อเท็จริงความรับผิดทางละเมิดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ
ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ของเทศบาลตำบลแม่เมาะ เป็นความเสียหายที่มีสาเหตุมาจากการทุจริตเบิกจ่ายเงินของกองทุนฯ ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการและต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ จังหวัดลำปางได้ร่วมกันวินิจฉัยสั่งการและออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งทุจริตจำนวน ๒ ราย รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนความเสียหาย แต่ได้วินิจฉัยสั่งการและออกคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นโอกาสหรือช่องทางให้เกิดการทุจริตจำนวน ๕ ราย รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัดส่วนที่แต่ละคนมีส่วนร่วมในการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นการเรียกให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่เต็มจำนวนความเสียหาย จึงเป็นการดำเนินการที่แตกต่างจากที่กำหนดในข้อ ๕.๒.๒
แห่งประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว สำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดังกล่าวจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบตามข้อ ๕ แห่งประกาศกระทรวงการคลังฯ
การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจังหวัดลำปาง ร่วมกันออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้ง
๗ รายรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ได้ส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบก่อน จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงต้องส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ให้กระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบ และเมื่อกระทรวงการคลังพิจารณาสำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจังหวัดลำปางแล้ว และมีความเห็นประการใด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจังหวัดลำปาง ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่เสียหายและผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของทั้งสองหน่วยงานย่อมต้องผูกพันและมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ตามข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิด
ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙

 

ประเด็นที่สอง กรณีที่เลขาธิการสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการ
และพิจารณาอุทธรณ์ชั้นต้น ผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ชั้นเหนือขึ้นไป

 

ความเห็น มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยอำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึงการกำหนด นโยบายการบริหารและให้ความเห็นชอบ แผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปและการบริหารงานบุคคลของสำนักงานฯ และมาตรา ๓๑ บัญญัติให้ สำนักงานฯ มีเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบการบริหาร กิจการของสำนักงานฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และ ประกาศของคณะกรรมการฯ ให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้คัดเลือกเพื่อแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการฯ จึงจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ในฐานะผู้ควบคุมชั้นเหนือขึ้นไปของเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นผู้มีอำนาจพิจารณา อุทธรณ์ชั้นเหนือขึ้นไปตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับ ข้อ ๒ (๑๔) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

 

Post a Comment